วันพฤหัสบดีที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2555

ระฆังทองไม้หายากของไทย


ระฆังทอง มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Pauldopia ghorta (G.Don) steenis วงศ์ BIGNONIACEAE เป็นไม้ต้นขนาดเล็ก สูง 3-7 ม. ใบ เป็นใบประกอบแบบ ขนนก มีใบย่อย 3-4 คู่ ก้านใบย่อยมีปีกแคบๆ ใบบาง รูปไข่แกมรีหรือรูปไข่แกมหอก กว้าง 1.4-3.3 ซม. ยาว 3-9 ซม. โคนใบสอบกว้าง บางครั้งเบี้ยว ปลายใบแหลมเป็นติ่ง ขอบใบและเส้นใบมีขน โดยเฉพาะด้านท้องใบ ดอก สีเหลือง มีสีน้ำตาลแดงบริเวณคอ เป็นดอกช่อแบบห่างๆ ช่อรวมยาว 8-17 ซม. ดอกย่อยขนาดยาว 3-4.5 ซม. กลีบรองดอกเชื่อมกันเป็นรูปถ้วย กลีบดอกเชื่อมติดกันเป็นหลอดยาว ส่วนปลายมี 5 แฉก เกสรผู้มี 2 คู่ ติดกับหลอดดอกด้านในยาวไม่เท่ากัน ผล เป็นฝักแห้งและแตกเมื่อแก่ รูปรียาว ปลายแหลม กว้าง 0.5-0.8 ซม. ยาว 22-24 ซม. มีรอยคอดเล็กน้อยเป็นช่วงๆ เมล็ดแข็ง ค่อนข้างแบนไม่มีปีก กว้าง 5-8 มม. ยาว 6-8 มม. (ที่มา: หนังสือพรรณไม้สวนพฤกษศาสตร์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ เล่ม 3)
ที่มา:  ภาพจากสวนพฤกษศาสตร์บ้านร่มเกล้า พิษณุโลก ในพระราชดำริ

ค้อ ไม้แห่งวัฒนธรรมของคนบนภูเขาสูง


ค้อ เป็นปาล์มขนาดใหญ่ ลำต้นเดี่ยว ไม่แตกกอ ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางที่โคนต้น 20-30 เซนติเมตร สูงได้ถึง  25-30 เมตร ใบ เป็นกลุ่มแน่นใกล้ยอดถึง 50 ใบ ลำต้นเรียวเล็ก เส้นผ่าศูนย์กลาง 20-30 เซนติเมตร ที่ฐานมักจะพองออกใบกลมคล้ายพัด เส้นผ่านศูนย์กลางถึง 2 เมตร ด้านล่างสีออกเทาเป็นสันร่องถึง 100 ร่อง ปลายเป็นสันร่องถึง 100 ส่วน แต่ละส่วนมีปลายแข็งแยกเป็น  2 แฉก ส่วนที่ฐานมักจะซ่อนกัน ก้านใบร่วมยาวถึง 1.8เซนติเมตร สีเหลือง มีหนามใหญ่โค้ง สีส้มอมน้ำตาล ยาวถึง 2.5 เซนติเมตร กาบใบสั้น ที่ขอบใบมักจะแตกเป็นเส้นใยหยาบและมีติ่งหูใบ (ligule) ที่ยาวถึง 25 เซนติเมตร ดอก มีขนาดเล็กจำนวนมาก สีเหลืองอมเขียว ออกดอกรวมเป็นช่อ แบบแยกแขนง บริเวณซอกใบใกล้ยอดช่อดอกยาวได้ถึง 2 เมตร ผล ลักษณะผลค้อจะมีขนาด  2.5-3 เซนติเมตร สีเขียวเข้มถึงม่วงออกดำ รูปมนรีถึงรูปไข่ ความยาวมากกว่ากว้าง

ต้นค้อ มีถิ่นกำเนิดที่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พืชสกุลค้อ มีประมาณ 28 ชนิด กระจายพันธุ์ทั่วไปในเขตร้อนของทวีปเอเชีย แอฟริกา และออสเตรเลีย ในประเทศไทยมีรายงานการสำรวจพบ 3 ชนิด กระจายอยู่ทุกภาค ซึ่งต้นค้อชอบขึ้นในบริเวณที่มีความชุ่มชื้นที่ระดับความสูง 600 - 1,200 เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลาง ในส่วนของประเทศไทยจะพบค้อได้ในป่าที่มีความอุดมสมบูรณ์ซึ่งส่วนมากเป็นป่าต้นน้ำ และมักพบในป่าสวนเมี่ยง ในอดีตจะพบมากที่ภาคเหนือ ถือได้ว่าเป็นไม้ยืนต้นที่มีอายุการเจริญเติบโตยาวนาน โดยส่วนใหญ่ลักษณะของต้นค้อที่ใช้ประโยชน์ได้จะมีอายุ 10 ปีขึ้นไป




วันพุธที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2555

สร้อยสยามพรรณไม้หนึ่งเดียวในโลก


สร้อยสยาม มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Bauhinia siamensis K. Larsen & S.S. Larsen ชื่อวงศ์ LEGUMINOSEA-CAESALPINIOIDEAE ลำต้น เป็นไม้เถาเนื้อแข็ง พาดพันตามเรือนยอดของต้นไม้อื่นไปได้ไกล โดยชอบเลื้อยออกหาแสง ลำต้นเหนียว แบน เถาบิดเป็นเกลียว กิ่งก้านเมื่ออ่อนมีขนสีน้ำตาลแดง เมื่อแก่เกลี้ยง ใบ เป็นใบเดี่ยวเรียงสลับ (Alternate) รูปไข่เกือบกลม ปลายใบเว้าเป็นสองแฉก ปลายแฉกกลม โคนใบตัดหรือเป็นรูปหัวใจ ขอบใบเรียบ ใบอ่อนจะมีแถบสีขาวเทาตรงกลางใบ ตั้งแต่โคนใบ จนถึง   ปลายใบ เมื่อแก่จะเป็นสีเขียวทั้งใบ แผ่นใบหนา ผิวใบเกลี้ยงทั้งสองด้าน ดอก ออกดอกเป็นช่อแบบกระจะ (raceme) ห้อยลง ยาว 6-84 เซนติเมตร มีใบประดับสีแดง รูปหอก ในหนึ่งช่อดอกมีดอกย่อย 2-40 ดอก กลีบเลี้ยง 5 กลีบ แยกเป็นกลีบบน 2 กลีบ กลีบล่าง 3 กลีบ มีขนสีน้ำตาลแดงกลีบดอก 5 กลีบ สีชมพูหรือชมพูแกมแดง รูปไข่กลับหรือรูปรี ปลายกลีบมนกลม โคนกลีบสอบเรียว มีเกสรเพศผู้ที่สมบูรณ์ 3 อัน ก้านชูอับเรณูยาว 15-18 มิลลิเมตร อับเรณูรูปไข่แกมรูป   ขอบขนาน กว้าง 1-2 มิลลิเมตร ยาว 5-6 มิลลิเมตร ผล เป็นฝักแบน รูปขอบขนาน แห้งแล้วแตก กว้าง 2-4 เซนติเมตร ยาว 13-22 เซนติเมตร   เมล็ด แบน รูปไข่ เมื่อแก่มีสีน้ำตาลเข้ม


                                                        






ที่มา: ภาพจากสวนพฤกษศาสตร์บ้านร่มเกล้า พิษณุโลก ในพระราชดำริ